1. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศ
รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น รูปแบบและรายละเอียดงานที่จะเกิดขึ้น ขอบเขตความรับผิดชอบของอาสา คำชี้แจงเรื่องการเป็นอาสา และกฎการอยู่ร่วมกัน (house rules)
ตัวอย่างเนื้อหา:
วันที่จัด Repair Café: ___________
เวลาจัด Repair Café: ___________
สถานที่จัด Repair Café: ___________
บทบาทของอาสาช่างซ่อม คือ ผู้ที่มาร่วมให้ความรู้เรื่องการซ่อม พร้อมเรียนรู้ไปกับอาสาสมัครท่านอื่น เปิดรับตั้งแต่ทักษะเบื้องต้นไปถึงชำนาญ สามารถนำของมาซ่อมเองได้ฟรีเช่นกัน
หมายเหตุ
- เป็นงานอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทน
- หากเป็นไปได้ สามารถนำอุปกรณ์การซ่อมของตัวเองมาร่วมงานได้
- หากท่านเป็นเจ้าของร้านซ่อม ระหว่างการเป็นอาสาสมัครในงานท่านสามารถใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์บริการการซ่อมของร้านตัวเองได้
กฎการอยู่ร่วมกัน: ใบลงทะเบียนและระเบียบการอยู่ร่วมกัน (สามารถดึงข้อมูลจากหน้าระเบียบการอยู่ร่วมกันไปใช้ได้)
2. สร้างแบบฟอร์มรับสมัครอาสาช่างซ่อม
รวบรวมรายชื่อบุคคลใกล้ตัว หรือ องค์กร ที่ประเมินว่าสามารถมาเข้าร่วมเป็นอาสาช่างซ่อมได้
บุคคลใกล้ตัว: เราทุกคนต่างมีเพือนที่ชอบซ่อมของต่างๆ คนรู้จักที่ชอบงาน DIY หรือช่างสมัครเล่นที่ซ่อมของในบ้านได้ในยามจำเป็น การตามหาอาสาสมัครจากคนใกล้ตัวจะสามารถทุ่นแรงคุณได้อย่างมาก เป็นไปได้ว่าคุณจะได้อาสาช่างซ่อมครบสำหรับทุกสถานีโดยไม่ต้องประกาศตามหาในช่องทางอื่นๆ
ช่างฝีมือในชุมชน: เช่น ช่างไม้ ช่างเย็บผ้า ช่างเหล็ก หรือช่างงานหัตถกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ Repair Café จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงฝีมือ ประชาสัมพันธ์ร้านของพวกเขาให้คนในชุมชนได้รู้จัก รวมถึงเป็นที่ให้ช่างฝึกหัดได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ลงมือซ่อมของจริงๆ
กลุ่มหรือองค์กร: เช่น กลุ่มอาสาซ่อมของเพื่อนำของไปบริจาค ร้านค้ามือสองเพื่อการกุศล ชมรมช่างฝีมือ หรือกลุ่มของผู้มีงานอดิเรกร่วมกัน เช่นชมรมปั่นจักรยาน กลุ่มช่างซ่อมเครื่องเสียงวินเทจ หรือกลุ่มผู้สนใจคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือโรงเรียนอาชีวะ: มักเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการซ่อม การร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้นอกจากช่วยให้คุณสามารถหาอาสาช่างซ่อมได้ง่ายขึ้น ยังอาจนำไปสู่การสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น สถานที่จัดงาน อุปกรณ์ พร้อมเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้การขอเงินสนับสนุนเป็นไปได้ง่ายขึ้น
บุคคลทั่วไป: นอกเหนือจากบุคคลใกล้ตัวและองค์กรต่างๆ ยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาช่างซ่อมอยู่มากมาย ซึ่งเราไม่อยากให้คุณพลาดโอกาสที่จะได้ร่วมมือกัน
3. เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะใช้ประกาศหาอาสาช่างซ่อม
เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะใช้ประกาศหาอาสาช่างซ่อมตามช่องทางที่คุณรวบรวมไว้ เช่น
บุคคลใกล้ตัว: เตรียมข้อความที่ระบุรายละเอียดงานที่จะเกิดขึ้น หรือ ชวนเมื่อพบปะ ทั้งนี้ ควรกรอกข้อมูลบุคคลนั้นๆ ไว้ใน Google Form ที่คุณเตรียมไว้ เพื่อความสะดวกในการรวบรวมรายชื่อ
ช่างฝีมือในชุมชน: คุณอาจเดินทางไปที่ร้านของช่างเพื่อชักชวนให้มาร่วมเป็นอาสา โดยคุณควรเน้นความเข้าใจเรื่องการเป็นงานอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทน อย่างไรก็ตาม ช่างทุกคนสามารถใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ร้านของตัวเองได้
กลุ่มหรือองค์กร: เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะกับรูปแบบองค์กร เช่น โพสต์ประชาสัมพันธ์เพื่อแชร์ในเพจชมรมปั่นจักรยาน, โปสเตอร์สำหรับติดในชมรมช่างฝีมือ
ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือโรงเรียนอาชีวะ: เตรียมไฟล์สำหรับนำเสนอโครงการกับผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารหน่วยงาน โดยควรอธิบายให้ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาที่ไป ประโยชน์ของโครงการ และรูปแบบความช่วยเหลือที่ต้องการ เช่น อาสาช่างซ่อมสำหรับกิจกรรมใดบ้าง, ความอนุเคราะห์ขอสถานที่จัดงานในวันเวลาที่ต้องการ, อุปกรณ์ที่ต้องการ เป็นต้น
บุคคลทั่วไป: ทำโพสต์ประกาศบนสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้ชื่อกลุ่มผู้จัด Repair Café ของคุณ (คุณสามารถติดต่อให้ Reviv ช่วยประชาสัมพันธ์ร่วมด้วยได้) หรือ โปสเตอร์สำหรับติดประกาศในพื้นที่ส่วนกลางชุมชน
4. สร้างกลุ่มรวบรวมอาสาช่างซ่อมที่จะมาร่วมงาน
เราแนะนำให้คุณใช้ไลน์รูปแบบกลุ่ม (LINE Group Chat) หรือช่องทางใดๆ ที่ทีมของคุณตกลงร่วมกัน เช่น Discord, Slack เพื่อรวมรวบอาสาช่างซ่อมและผู้จัดงานเข้ามาในพื้นที่เดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกรณีที่อาสาช่างซ่อมมีคำถามหรือผู้จัดงานต้องการแจ้งข้อมูลเปลี่ยนแปลงใดๆ
นอกจากนี้ยังมีอีกวัตถุประสงค์ คือ เพื่อสร้างสังคมของกลุ่มคนที่รักการซ่อมร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นและแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งการขยายกลุ่มผู้ที่สนใจเรื่องราวของการซ่อมนี้ นอกจากจะทำให้การจัดงานครั้งถัดๆ ไปเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้นแล้ว เมื่อทุกๆ กลุ่มในทุกๆ ย่าน สามารถรวบรวมและขยายกลุ่มคนที่รักการซ่อมออกไปมากเท่าไหร่ โอกาสการรวมกลุ่มผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องสิทธิการซ่อม (Right to Repair) ให้เกิดขึ้นจริงในไทยก็มีมากขึ้นเท่านั้น